คาเฟอีน คาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ (Xanthine alkaloid) ซึ่งพบมากใน เมล็ดกาแฟ ใบชา เมล็ดโกโก้ เมล็ดโคล่า เป็นสารสีขาวที่มีรสขม ไม่มีกลิ่น ในปัจจุบันเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนได้รับความนิยม
คาเฟอีน (Caffeine)
คาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ (Xanthine alkaloid) ซึ่งพบมากใน เมล็ดกาแฟ ใบชา เมล็ดโกโก้ เมล็ดโคล่า เป็นสารสีขาวที่มีรสขม ไม่มีกลิ่น ในปัจจุบันเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากคาเฟอีนกระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ลดความง่วง ทำให้รู้สึกสดชื่น มีสมาธิ และลดความเหนื่อยล้าลงได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนมีปริมาณการบริโภคในแต่ละวันมากที่สุดในโลก
คาเฟอีนในกาแฟ ทำงานอย่างไร?
เมื่อคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย จะดูดซึมจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะเดินทางต่อไปสู่ตับและแตกตัวเป็นสารประกอบที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและอวัยวะอื่น ๆ เช่น ระบบเส้นประสาทและสมอง ตลอดจนไขสันหลัง คาเฟอีนมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับสารแอดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในสมองที่ทำให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย และทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน
โดยคาเฟอีนจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของสารแอดีโนซีน และทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว ช่วยลดความเหนื่อยล้า และเพิ่มสมาธิได้ นอกจากนี้ คาเฟอีน ยังช่วยเพิ่มระดับอะดรีนาลีน (Adrenalin)ในเลือด และเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitter) เช่น สารโดพามีน (Dopamine) และสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด กระตุ้นกลไกการคิดรวดเร็ว และสมาธิจดจ่อ และสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกมีความสุข
ปริมาณคาเฟอีนที่แนะนำต่อวัน?
ปริมาณคาเฟอีนที่แนะนำต่อวันอยู่ที่ไม่เกิน 400 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณคาเฟอีนที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับการดื่มกาแฟ 4 แก้ว การดื่มกาแฟ 1 แก้วใช้เวลาประมาณ 20 นาทีในการเข้าสู่กระแสเลือด และใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง คาเฟอีนจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่และสามารถออกฤทธิ์ได้นาน 3-4 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ทำให้ใจสั่น และทำให้นอนไม่หลับได้
ผลข้างเคียงจากการดื่มคาเฟอีนมากเกินไป เป็นอย่างไร?
การบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะคาเฟอีนเป็นพิษ (Caffeine intoxication) ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบส่วนกลางของร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้ร่างกายและจิตใจแสดงออกซึ่งอาการ เช่น หน้าแดง วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว หงุดหงิด ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง กระสับกระส่าย วิตกกังวล ความคิดและการพูดสับสน ปัสสาวะมากผิดปกติ ปวดท้อง ร่างกายขาดน้ำ รวมถึงอาจขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกายได้
ทั้งนี้การบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะเสพติดคาเฟอีน (Caffeinism) อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กอักเสบ หรือ โรคน้ำย่อยไหลย้อนกลับ ความดันโลหิตสูง กระสับกระส่าย วิตกกังวล ใจสั่น กล้ามเนื้อกระตุก และนอนไม่หลับ เป็นต้น
ประโยชน์ของคาเฟอีน
- ช่วยให้อารมณ์และการทำงานของสมองดีขึ้น
คาเฟอีนยับยั้งการทำงานของสารแอดีโนซีน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น สารโดพามีน และสารนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกมีความสุขและความพึงพอใจ ทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว ช่วยในเรื่องกระบวนการการทำงานของสมอง ทำให้มีสมาธิจดจ่อและความจำดีขึ้น และยังช่วยลดความเหนื่อยล้า จากการศึกษาพบว่า คาเฟอีนสามารถลดภาวะซึมเศร้าลงได้ รวมถึงลดความเสี่ยงต่อโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และ โรคหลอดเลือดสมอง
- ช่วยให้กระบวนการเผาผลาญพลังงานและไขมันดีขึ้น
คาเฟอีนกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการการเผาผลาญพลังงานและไขมัน จากการศึกษาพบว่า การดื่มคาเฟอีน 300 มก. ต่อวัน อาจช่วยให้เผาผลาญแคลอรี่เพิ่มขึ้นถึง 79 กิโลแคลอรี่ และยังพบว่าคาแฟอีนยังช่วยป้องกัน โรคตับ โรคมะเร็งตับ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย
คาเฟอีนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานและไขมันที่กักเก็บในร่างกาย และช่วยทำให้เก็บกลูโคสไว้ในกล้ามเนื้อได้นานขึ้น ซึ่งทำให้ชะลอความเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกายได้ ทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น ที่สำคัญคาเฟอีนยังช่วยกระตุ้นการหลั่งของสารอะดรีนาลีนในร่างกายขณะออกกำลังกาย ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจและหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และทำให้หัวใจแข็งแรง
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
จากการศึกษาพบว่าการดื่มกาแฟที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน 1 แก้ว อาจช่วยให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ถึง 7% แต่ไม่สามารถรักษาโรคเบาหวานในผู้ที่ป่วยให้หายได้ ทั้งนี้ผู้บริโภคควรระมัดระวังปริมาณน้ำตาล หรือ ไขมัน ที่มักนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มคาเฟอีน เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจตามมา
- ช่วยลดอาการปวดในร่างกาย
คาเฟอีนนิยมถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ปวดศีรษะจากความเครียด หรือไมเกรน นอกจากนี้แพทย์ยังนิยมใช้คาเฟอีนฉีดเข้าเข้าเส้นเลือดให้ผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดอาการปวดศีรษะ เป็นต้น
ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยง หรือจำกัดการดื่มคาเฟอีนคือใคร?
คาเฟอีนถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มและอาหารมากมายในชีวิตประจำวัน ความสามารถในการรับปริมาณคาเฟอีนของแต่ละบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาพร่างกายของบุคคลนั้น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำ หากสงสัยว่าควรจำกัดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน โดยบุคคลที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนได้แก่
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากคาเฟอีนจะผ่านจากรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้
- ผู้ที่วางแผนเพื่อมีบุตร
- คุณแม่ที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร เนื่องจากคาเฟอีนในปริมาณเพียงเล็กน้อย สามารถถูกส่งผ่านไปยังทารกได้
- ผู้ที่มีความผิดปกติในการการนอนหลับ นอนหลับยาก หรือมีอาการนอนไม่หลับ
- ผู้ที่เป็นไมเกรน หรือปวดศีรษะเรื้อรัง
- ผู้ที่มีความวิตกกังวล
- ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน หรือเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่รับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด รวมถึงยากระตุ้น ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยารักษาโรคหอบหืด และยารักษาโรคหัวใจ
- เด็กหรือวัยรุ่น ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนในแต่วัน และไม่ควรรับคาเฟอีนมากเท่ากับผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายจะมีความไวต่ออาการข้างเคียงมากกว่า
ผลข้างเคียงการเลิกคาเฟอีน เป็นอย่างไร?
ในผู้ที่บริโภคคาเฟอีนเป็นประจำแล้วต้องการเลิกคาเฟอีน อาจมีอาการข้างเคียงจากการขาดคาเฟอีนตามมา โดยอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ แสดงออกหลังจากที่งดการบริโภคคาเฟอีนไปแล้ว 12-24 ชม. โดยมีระยะในการแสดงอาการประมาณ 2-9 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล จากนั้นอาการจึงจะค่อย ๆ หายไป โดยมีอาการดังนี้
- ปวดศีรษะ
- อาการง่วงหงาว หาวนอน
- หงุดหงิด กระสับกระส่าย กระวนกระวาย
- คลื่นไส้
- มีปัญหาในเรื่องสมาธิจดจ่อ
- เหน็ดเหนื่อย
- มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ
คาเฟอีนถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยา จริงหรือไม่?
เนื่องจากคาเฟอีนส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง คาเฟอีนจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาแก้หวัด หรือ ยาลดน้ำมูก เพื่อช่วยส่งเสริมให้ยาออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาได้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ควรอ่านฉลากกำกับยา หรือเอกสารกำกับยาที่แนบพร้อมกับใบสั่งยา หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ถึงข้อควรระวัง หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา เนื่องจากปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไป อาจส่งผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ โดยยาเหล่านี้ได้แก่
- ยาอีเฟดรีน (Ephedrine) เป็นยาลดน้ำมูก หากทานร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรืออาการชัก
- ยาธีโอฟิลลีน ( Theophylline) เป็นยาขยายหลอดลม มีฤทธิ์คล้ายคาเฟอีน หากทานร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ และใจสั่น
- ยาเอ็กไคนาเซีย (Echinacea) เป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นอาหารเสริมเพื่อป้องกันหวัด หรือการติดเชื้อ หากทานร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการได้รับคาเฟอีนมากจนเกินไป
การบริโภคคาเฟอีน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ใหญ่หรือผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่พอเหมาะจะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า และมีสมาธิ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงผลข้างเคียงของคาเฟอีน ควบคุมระดับการบริโภคในแต่วัน และเตรียมพร้อมที่จะลดปริมาณหากมีความจำเป็น